05 November 2013

บันทึกไว้ ณ ห้วงนิรโทษกรรม 2556

ในฐานะที่อยู่ในเหตุการณ์ (เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์) คืนที่เสื้อแดงจะข้ามมายึดสีลม แต่เกิดประจันหน้าฝ่ายตรงข้าม ที่ไม่ยอมให้เข้ามายึดถนนสีลม จึงหยุดกันอยู่ที่ แยกสีลม เสื้อแดงอยู่ฝั่งโรงพยาบาลจุฬา และฝ่ายตรงข้ามอยู่บนถนนสีลม หน้าโรงแรมดุสิต

ขณะเดียวกันก็ทำงานอยู่ในตึกที่เกือบติดแยกราชประสงค์ ก่อนและหลังห้วงที่เสื้อแดงมายึดแยกราชประสงค์

และก็ให้บังเอิญ ว่าน้องที่รู้จักกัน เคยทำงานออฟฟิศเดียวกัน มีร้านเสื้อที่ถูกไฟเผาไปพร้อมกับโรงหนังสยาม ในวันสิ้นสุดการชุมนุมของเสื้อแดง

จึงไม่แปลกใจที่ จะมีคนตาย เหมือนเช่นที่เหล่าคนเสื้อแดงเรียกร้องหาความยุติธรรม เพราะความรุนแรง และการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง มีให้เห็นอยู่ที่แยกสีลม ในคืนวันนั้น การยั่วยุ และความรุนแรง ก็มาจากฝั่งเสื้อแดงทั้งสิ้น (เห็นมากับตา ได้ยินมากับหู) หากดูข่าวโทรทัศน์ ก็จะเห็นว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นรอบๆ แยกถัดจากจุดศูนย์กลางการชุมนุมของเหล่าเสื้อแดง นั่นคือแยกราชประสงค์ ทั้งบ่อนไก่ อุรุพงษ์ ปทุมวัน แยกสามย่าน และแยกสีลม รวมทั้งเหตุยิงระเบิดลงบีทีเอส ศาลาแดง เป็นต้น ทั้งหมดเกิดก่อนการสลายการชุมนุมทั้งนั้น

แต่ที่แปลกใจ และคนส่วนใหญ่ไม่รู้ ถ้าไม่มาเจอเอง ก็คือ ณ ศูนย์กลางของการยึดพื้นที่ ซึ่งก็คือ แยกราชประสงค์ ไม่เกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้นในนั้นเลยกระทั่งวันสลายการชุมนุม ก่อนหน้าวันสลายการชุมนุม แยกราชประสงค์ คือดินแดนสงบสุข ขายอาหาร แจกอาหาร ร้องรำทำเพลงกันแถวถนนหลังสวน ตั้งเต้นท์นอนพักกันอย่างสบายอกสบายใจจริงๆ คนข้างใน แทบไม่รู้เลยว่า รอบข้างมีความรุนแรงเกิดขึ้น รู้ตัวอีกทีก็เป็นความรุนแรงหลังการสลายการชุมนุม

ก็เลยไม่น่าแปลกใจ ที่หลายคน จะถามหาความยุติธรรมที่เพื่อนๆ ของเขาถูกฆ่าตาย

ขณะที่แกนนำเสื้อแดง ขึ้นเวที ปลุกระดมให้พร้อมเผาเมืองกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างคะนองปาก หลายคนที่มีอุดมการณ์และศรัทธาในเสื้อแดง ก็ไม่น่าแปลก ที่จะเกิดเหตุเผาเมือง หลังการสลายการชุมนุม ซึ่งจนทุกวันนี้ คนที่ปลุกระดม และมีคลิปเป็นหลักฐานชัดเจนก็ไม่ถูกกล่าวถึง ชาวเสื้อแดง ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในจุดนี้ เท่ากับพี่น้องที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม

ที่พูดเรื่องการเผาเมือง ไม่ถูกสนใจ หรือเรียกหาความยุติธรรมจากคนเสื้อแดง เพราะน้องที่รู้จักกัน ต้องสูญเสียทุกสิ่งที่เขาลงทุนไปกับกองเพลิง หนี้สินที่หามาเป็นทุนเปิดร้าน ก็ยังต้องใช้หนี้สินกันต่อไป จนทุกวันนี้ หากไม่ได้เป็นคนขยันทำมาหากินก็คงหมดตัวไปแล้ว ที่น่าตลกคือ เมื่อเดือนที่แล้ว ยังต้องไปยื่นขอรับค่าเสียหายจากการถูกเผาร้านกันอยู่เลย ทั้งที่เขาไม่ได้พาตัวมาอยู่ในจุดเสี่ยง ณ บริเวณชุมนุมเหมือนผู้ชุมนุมอื่นๆ แต่กลับสูญเสียแบบไม่คาดฝัน และแทบไร้การเหลียวแล

ผมจึงไม่ได้รู้สึกสงสาร หรือเห็นใจผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการชุมนุม แต่ก็ไม่สมน้ำหน้า เพราะคิดว่า พวกเขาอาจมาเพื่ออุดมการณ์ หรืออยู่ในจุดปลอดภัย ไม่รับรู้ถึงความรุนแรงที่มีอยู่รอบกาย แต่ที่สำคัญพวกเขารู้อยู่แล้วจากการประกาศของแกนนำเป็นระยะๆ ว่ามีอันตรายโน่นนี่ แต่ก็ไม่คิดจะรักษาชีวิตตนเองจากความเสี่ยงชีวิตเหล่านี้

ผมจึงคิดว่าคนที่ควรรับผิดชอบในชีวิตของพี่น้องเสื้อแดงที่เสียชีวิต ก็คือแกนนำเองด้วย ไม่ใช่กล่าวหาแต่รัฐบาลในขณะนั้น และผู้สลายการชุมนุม

ผมมองว่าปัญหาความขัดแย้งของคนไทยด้วยกันเอง เหตุมาจากจุดเล็กๆ แต่เป็นศูนย์อำนาจของชาติ คือการที่คนบางคนและบางกลุ่ม ถูกโค่นอำนาจ แล้วคิดจะทวงคืนอำนาจคืนมา พร้อมการแก้แค้น หนทางที่ดีที่สุดในทางการเมือง คือการปลุกระดม ซึ่งพวกเขาใช้ช่องทางสื่อสารมวลชน (ที่พวกเขาเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เพราะเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อสาร และโฆษณา) ค่อยๆ ทำให้ประชาชนได้คิดว่า เหล่านี้คือลัทธิอำมาตย์ มาล้มล้างพวกเขาซึ่งมาจากประชาธิปไตย ประเทศไทยแย่ เพราะถูกอำมาตย์ปกครอง และอยู่เบื้องหลัง ฝ่ายตรงข้ามพวกตนคือเผด็จการ และอำมาตย์ ฯลฯ

นานวันเข้าเหล่าปัญญาชนที่สนับสนุนเรื่องประชาธิปไตย ก็หันมาเข้าข้าง เหล่าประชาชน ที่ถูกสื่อสารมวลชนเข้าถึงได้ กล่อมให้เอนเอง จนเกิดเป็นลัทธิ และเหล่าผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ต่างเทิดทูนคนที่เสียอำนาจนั้น เป็นตัวแทนของประชาธิปไตยที่แท้จริง

ยิ่งมีการเสียชีวิตของพี่น้องเสื้อแดง เหล่าผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และเหล่าปัญญาชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ก็ยิ่งมองเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม ซึ่งผมก็เชื่อว่า หลายท่านอาจไม่ทราบถึงความรุนแรงที่มันมีด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่จากกลุ่มชายชุดดำ หรือทหาร

ผมเชื่อมาตลอดว่า การเมือง ก็คือการเมือง ปัญหาทั้งปวง เกิดจากการเมือง มันก็จะดำเนินไปด้วยแนวทางของเกมการเมือง ที่แน่นอนว่า ก็เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เพราะหากทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติจริงๆ ป่านนี้ประเทศไทยคงพัฒนาไปเท่ากับเกาหลีใต้ ที่เริ่มต้นประเทศไปพร้อมๆ กับไทย แต่ตอนนี้นำไปหลายช่วงตัว หรือแม้แต่มาเลเซีย ที่เคยล้าหลังกว่าไทย บัดนี้ก็แซงหน้าไปในหลายๆ เรื่องแล้ว

สำหรับผม จุดที่ชัดเจนที่สุดของความไม่เชื่อถือในคนที่เล่นการเมือง โดยเฉพาะเกมนี้ คือคำพูดของเหล่านักการเมือง ผู้มีอำนาจ และเสียอำนาจ กลับกลอก ปลิ้นปล่อน การหาเสียงที่สัญญาว่าจะไม่รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีหาลูกของเขาสอบตก ส.ส. แต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับรับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า เป็นเทคนิคการหาเสียง!! หรืออดีตนายกฯ ที่พูดเสมอว่าพอแล้ว เลิกแล้วกับอำนาจ ปล่อยวางแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่เบื้องหลัง และหลายครั้งก็ออกตัวว่าควบคุมการเมืองจริงๆ

ที่ตลกที่สุดเห็นจะเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ก็อ้างเหตุในการออกกฎหมายนี้ ว่าเพื่อความปรองดอง อยากให้คนในชาติปรองดองกันเสียที เลิกแบ่งฝักฝ่าย จนเมื่อแปรญัญติก็กลับแก้ข้อความกฎหมาย ให้เหมารวมนิรโทษกรรมเพื่อประโยชน์ของคนที่พูดเสมอว่าพอแล้ว นิยมความถูกต้อง นิยมประชาธิปไตย ที่โดนใจผมจริงๆ ก็คือการรีบเร่งลงมติรับรองร่างกฎหมาย 3 วาระภายในวันเดียว ผิดวิสัยของส.ส. ที่มักจะไม่ขออภิปราย (ทำงาน) กันดึกดื่น แต่คราวนี้ ขอให้รับรองกันจนกว่าจะผ่านกฏหมายจึงเลิกได้ มันแสดงให้เห็นถึงความรีบเร่ง และไม่บริสุทธิ์ใจอย่างยิ่ง และเป็นเหตุผลว่า ทำไมผมจึงร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้มากเป็นพิเศษ ทั้งที่ปกติก็แค่บ่น หรือไม่สนใจพูดถึง

ผู้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือปัญญาชนที่มุ่งมั่นในแนวทางประขาธิปไตย น่าจะทราบกันได้แล้ว (คิดเองได้ครับ) ว่า เรื่องทั้งหมด ที่พวกเขาหว่านล้อมมาตั้งแต่พวกเขาถูกถอดจากอำนาจ ก็เพื่อประโยชน์ของพวกเขาเองทั้งสิ้น หาใช่ประโยชน์ของคนไทยทั้งชาติ และที่น่าเสียใจไปมากกว่านั้น พวกเขาหลอกใช้คนไทยทั้งประเทศ เป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งผลประโยชน์ของเขา จนทำให้สังคมไทยแตกแยก อย่างที่ไม่น่าเชื่อว่า คนไทย ที่รักสงบ จะกลายเป็นคนหยาบ ทุกสี ทุกฝ่าย

ผมว่าถึงเวลาที่เราควรแยกแยะเรื่อง แนวทางประชาธิไตย(และเผด็จการ) กับผลประโยชน์ของคนบางคน บางกลุ่มได้แล้วครับ แล้วพวกคุณที่รักประชาธิปไตย (เหมือนผม และคนไทยทุกคน) จะพบว่าเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาแตกแยกการอยู่ร่วมกันของคนไทยอย่างสงบมาช้านาน