21 January 2014

เหมือนกัน

พฤติกรรม กปปส.ต่อรักษาการรัฐบาลเวลานี้ ทำให้นึกถึง ความรู้สึกที่มีต่อพ่อค้าแม่ค้า ที่ตั้งแผงขายของเต็มพื้นที่ทางเท้าสยามสแควร์ 


คืออยากเตะ อยากชนแผงขายของให้ล้ม แล้วเดินเหยียบ เพราะมันกีดขวางทางเดิน และผิดดฏหมาย ในความรู้สึกคือทำได้เพราะแกทำผิดกฏหมาย แต่กระนั้นถ้าผมทำลงไป ผมก็ผิดกฏหมาย ฐานทำลายทรัพย์สินผู้อื่น


รัฐบาลทำผิด อยากไล่รัฐบาล ก็เลยปิดถนนไล่ ต่อต้านเลือกตั้ง ซึ่งดูเหมือนผู้ไล่มีเหตุผลสมควรไล่ แต่ความจริงคนไล่ก็กำลังทำผิดกฏหมาย ไม่เคารพกติกาเสียเอง ...เหมือนกัน


ตอนนี้ประเทศไทย ใครอยากทำอะไร ก็ไม่ต้องเกรงกลัวกฏหมายกันแล้ว เพราะต่างก็ทำผิดกฏหมายด้วยกันทั้งสิ้น



11 January 2014

บันทึกไว้ ณ ก่อนวัน Bangkok Shutdown 13 มกราคม 2557


เป็นอีกปรากฎการณ์หนึ่ง ที่แตกต่างกับเหตุการณ์เมื่อปี 2553 เมื่อกลุ่มเสื้อแดงปิดแยกราชประสงค์ คือในวันที่ 13 มกราคม 2557 กลุ่มที่เรียกว่า กปปส. จะทำการปิดกรุงเทพ นั่นหมายถึงการปิดถนน ณ จุดสำคัญของกรุงเทพ ประกอบด้วย 1. ถนนแจ้งวัฒนะ 2. ห้าแยกลาดพร้าว 3. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 4. สี่แยกปทุมวัน 5. สี่แยกลุมพินี 6. สี่แยกราชประสงค์ และ 7. สี่แยกอโศก เพื่อบีบให้รัฐบาลเข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลว จนต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรักษาการ จากนั้นจึงเข้าสู่การปฏิรูปการเมือง ด้วยการขอนายกฯ พระราชทาน และตั้งสภาประชาชนต่อไป ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในท้ายที่สุด

เมื่อปี 2553 ผมเคยคัดค้านการที่เสื้อแดงเข้ามายึดราชประสงค์ เขาให้เหตุผลเพื่อต้องการยึดใจกลางเศรษฐกิจประเทศไทย ให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ ต้องลาออกและยุบสภาในที่สุด ที่ผมอาจสรุปว่าเป็นรัฐล้มเหลวเหมือนกัน จากที่เขาเคยยึดสะพานผ่านฟ้า แล้วไม่ได้รับความสนใจ ก็เลยยกระดับปฏิบัติการ 

ผมเดินทางร่วมกับประชาชนจำนวนมาก ในการ "แสดงออก" ซึ่งสัญลักษณ์การไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษการ การกู้เงินด้วยการผ่านร่างกฏหมายกันตอนดึกดื่น ซึ่งถือว่าพวกรัฐบาลไม่ซึ่อสัตย์และจริงใจกับประชาชน และกับกระเทศไทย เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ถือว่าเป็นรัฐบาลและพรรคการเมืองที่ไม่น่าเลื่อมใสจากใครๆ อีกต่อไป ผมไม่ร่วมแสดงตนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่เขาประกาศรวมตัวครั้งแรก (ก่อนหน้าวันที่คนมารวมตัวเป็นประวัติศาสตร์ในวันอาทิตย์ 24 พฤศจิกายน) จากนั้นก็ไปอีกครั้ง เพื่อไปร่วมลงชื่อคัดค้านการนิรโทษกรรม สุดท้ายก็ไปร่วมเดินจากราชเทวี ไปจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 9 ธันวาคม วันเดียวกับที่รัฐบาลประกาศยุบสภา

ทั้งสิ้นที่ทำมา ผมขอแค่การแสดงออก ซึ่งความไม่เห็นด้วยให้รัฐบาลได้รับรู้ และได้มาซึ่งการยุบสภา 

จากนั้น เรื่องก็ยังไม่จบ ซึ่งก็ด้วยเหตุผลในย่อหน้าแรก ที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป และไล่รัฐบาลนี้ออกไปจากการเมืองไทย 

ส่วนตัวเคยเขียนไปแล้วว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระบบ แต่อยู่ที่ตัวนักการเมืองทั้งสองฝ่าย ที่ยังไม่ปฏิรูปตัวเอง แต่มุ่งหน้าที่ปัญหาเกิดจากฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นตราบใด้ที่เรายังมีนักการเมืองไม่ดี การเมืองก็ยังจะมีปัญหาต่อไปเรื่อยๆ ผมจึงเห็นว่าไม่ว่าจะเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ก็จะเกิดการปฏิรูปที่ไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายอยู่ดี เพราะฝ่ายหนึ่งเมื่อปฏิรูป แน่นอนว่าก็ต้องตั้งธงกีดกันอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออีกฝ่ายก็ตั้งธงปฏิรูปเพื่อประโยชน์พวกพ้องและคนของเขา ...โลกไม่สวยแน่นอน ปัญหาไม่จบแน่นอน

ผมจึงมองไม่เห็นว่าการปิดกรุงเทพของ กปปส. จะเกิดผลดีกับประเทศชาติอย่างแท้จริง ถ้าหากทุกวันนี้เรายังไม่ยอมรับว่าปัญหาทางการเมืองทุกวันนี้เกิดจากเหล่านักการเมืองเอง ที่ใช้มวลชน และมวลมหาประชาชนเป็นเครื่องมือห้ำหั่นกันเอง จนมองว่าอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตนคือคนเลว แทนที่จะมองว่าเป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างในสังคมประชาธิปไตยที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ การปฏิรูปเพื่อประเทศไทยโดยแท้จริงก็จะไม่เกิด แต่เป็นการปฏิรูปเพื่อให้อีกฝ่ายได้เปรียบกว่าอีกฝ่าย โดยหารู้ไม่ (หรือจงใจจะทำไม่รู้) ว่า

เมื่อคราวรัฐประหาร ทักษิณ เราเคยฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วสร้างรัฐธรรมนูญใหม้ปี 2550 ที่สอดแทรกการจำกัดอำนาจของ ทักษิณ และพรรคพวก แต่แล้ว สิ่งที่ได้ก็คือการกลับมาของพรรคไทยรักไทย และเหล่าพรรคพวกทักษิณ อยู่ดี 

หากคราวนี้ เราจะปฏิรูป เพื่อแก้ไขให้กำจัดอำนาจและบทบาททักษิณ ก็คงต้องเขียนในรัฐธรรมนูญไปแบบตรงๆ แล้วผลที่ได้จะคืออะไรล่ะ หากไม่ใช่การทำให้มวลชนเสื้อแดงลุกขึ้นมาต่อต้าน และอาจเกิดการยึดกรุงเทพอีกครั้ง ถ้าเป็นเช่นนั้น คนกรุงที่หนุน กปปส. ให้ยึดกรุงเทพบ้านเราเอง ก็คงต้องยอมรับในสิ่งที่่ฝ่ายตรงข้ามอาจทำเช่นเดียวกันด้วย เพราะพวกเขาก็มีเหตุผลเดียวกันกับ กปปส.

ผมมองว่า ปัญหาทุุกวันนี้ อยู่ที่นักการเมือง คนแก้ปัญหานี้ จึงไม่ควรเป็นนักการเมือง เพราะคงไม่มีนักการเมืองที่ไหน ยอมปฏิรูปตนเพื่อให้เสียผลประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง และทุกวันนี้อำนาจถ่วงดุลเราก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รัฐบาล และนิติบัญญัติ แทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมีอำนาจตุลาการมาคอยถ่วงดุลในทุกๆ เรื่อง ที่บางเรื่องดูยังไงก็ไม่ใช่เรื่องของดุลาการ

และผมก็ไม่แน่ใจว่า เวลาคัดเลือกคนมาปฏิรูปการเมืองจริงๆ จะได้คนที่ดีจริง ไม่ใช่ร่างทรงของใคร ดูตัวอย่างกันง่ายๆ จากที่เราเคยมีสภาสนามม้า ที่ใครต่อใครก็วิจารณ์ให้แซ่ดว่าเป็นการงัดข้อของกลุ่มการเมืองเพื่อให้มีสิทธิเลือกคนของตนเข้ามาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

สุดท้ายผมมองว่า หากเกิดความขัดแย้ง โกลาหล และวุ่นวายกันมากเข้า ด้วยการปิดเมือง หรืออะไรก็ตาม ก็คงไม่พ้นการกระทบกระทั่ง ยั่่วยุ การเผชิญหน้า สุดท้ายก็อาจเกิดการต่อสู้ ทำลายกัน เช่นเดียวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ 

จะต่างกันตรงที่ว่า ความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองของประเทศอื่นๆ มักเกิดจากปัญหาฝังลึกจริงๆ อย่างเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว หรือชนชั้นปกครองที่ปกครองประชาชนอย่างเลวร้าย จนประชาชนต้องลุกฮือขึ้นสู้ แต่เมื่อมองดูความขัดแย้งในประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงจนมีคนบาดเจ็บ ล้มตาย และทรัพย์สินเสียหายมาจนทุกวันนี้สิ 

ล้วนเกิดจาก "นักการเมือง"

ผู้ที่ท้ายที่สุด ก็ไม่เคยต้องได้รับผลกรรมใดๆ