14 June 2014

สงสารทหาร

ผมชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช. มาตั้งแต่เห็นท่านในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ผมชอบที่ท่านมีท่าทางของความเป็นทหาร คือไม่ต้องตอบคำถามเอาใจสื่อ เอาใจชาวบ้าน เป็นแนวทหารห่ามๆ ชอบคือชอบ ไม่ชอบก็คือไม่ชอบ อะไรที่ตอบไปแล้ว ไม่ชอบให้ถามซ้ำไปมา ซึ่งนักข่าวสายทหารและการเมืองนิยมการถามคำถามวกไปวนมา ซึ่งก็เป็นวิธีหาข่าวของนักข่าว (ที่ค่อนข้างน่าเบื่อ)

ผบ.ทบ. ตรงไปตรงมากับความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และความเป็นไปของบ้านเมือง ที่ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกัน ท่าออกมากล่าวถึงเรื่องความขัดแย้งในบ้านเมืองมานาน ว่าขอให้ทุกฝ่ายปรองดอง ยุติความขัดแย้ง และทหารจะขอไม่ยุ่งเกี่ยวในความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย

ผลคือ ทั้งสองคู่ขัดแย้ง ก็รุมด่า เรียกว่าเตือนไปทางนั้น อีกทางก็ด่า ไปยืนข้างนายกฯ อีกฝ่ายก็ด่า แต่ลึกๆ ต่างฝ่ายต้องการให้ทหารมายืนข้างตน

พลันเมื่อความขัดแย้ง มาถึงจุดเผชิญหน้า และใกล้เข้าสู่แตกหัก เพราะ "ทั้ง 2 ฝ่าย" ต่างไม่ยอมกันและกัน แนวโน้มึวามรุนแรง และสงครามกลางเมืองใกล้ปะทุ ชาวบ้านร้านช่องต่างก็ทราบดีถึงข้อนี้ ทหารจึงต้องดำเนินการอะไรสักอย่าง ในญานะที่ทั้งวิงวอน ทั้งเตือน และทั้งขู่ทั้งสองฝ่ายมานาน

จนเกิดการรัฐประหาร อย่างที่ทราบกัน

ผมไม่ชอบการรัฐประหาร เพราะรัฐประหาร คล้ายกับการใช้กำลังบังคับขืนใจให้จำยอม มันทำให้เราไม่เรียนรู้ที่จะเจรจา ไม่เรียนรู้ที่จะทำอะไรเพื่อบ้านเพิ่อเมืองอย่างที่ควรจะเป็น และการรัฐประหาร บางครั้งก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ถ้าเป็นไปในทิศทางที่คนต่อต้านรัฐประหารลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังล่ะ บ้านเมืองก็เลี่ยงที่จะเกิดสงครามระหว่างคนในชาติด้วยกันไม่ได้อยู่ดี ...แต่ประเทศไทยโชคดี ที่การรัฐประหารครั้งนี้ราบรื่น

(อนึ่ง ผมไม่เคยชอบ ประชาธิปไตย ที่ให้ประชาชน ได้ใช้อำนาจผ่านการเลืองตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบไทยๆ ที่เหล่า ส.ส. ต่างต้องเคารพในมติพรรค เดินตามแนวทางของพรรคการเมือง ที่พรรคการเมืองก็ชอบอ้างความชอบธรรมที่มาจากเสียงของประชาชน ...ผมเลือก ส.ส. เพราะผมต้องการให้ ส.ส. ทำงานเพื่อราษฎรในท้องถิ่น ไม่ใช่ทำงานเพื่อพรรคการเมือง ผมจึงไม่เคยเคารพในตัวนักการเมือง ไม่เคยเคารพในตัว ส.ส. และรังเกียจการนอบน้อมต่อนักการเมือง)

ผมไม่ได้ดีใจ ที่เกิดการรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ แต่ผม "สบายใจ" ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสภาพที่ต้องคอยกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อชีวิตของผม ต่อครอบครัว และต่อบ้านเมืองที่ผมอาศัย ผมต้องขอบคุณ ผบ.ทบ. ที่ตัดสินใจเด็ดขาดทำรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารครั้งนี้ ได้ "ยุติ" การเผชิญหน้าจนหมดสิ้น แต่แม้การเผชิญหน้าหมดไป ก็ไม่ได้หมายความว่าคนในชาติกลับไปรักกันเหมือนที่เคยเป็นมา เพียงแค่ย้อนกลับไปสู่ก่อนการเผชิญหน้า ที่ยังคุกกรุ่น และพร้อมจะเผชิญหน้ากันอีก ...คุณๆ คงรู้สึกได้เอง

หลายคนที่เคยด่าทหาร ที่ไม่ออกมาเข้าข้างตนสักที พอสบโอกาสที่รัฐประหาร ก็เหมาเอาว่าทหารเข้าข้างตน กำจัดรัฐบาลอันเป็นศัตรู ต่างส่งเสียงดีใจ และรักทหาร ทำนองเดียวกันก็เยาะเย้ยอีกฝ่าย ที่ถูกเรียกตัว กักกัน และถูกจับ ทั้งที่ในความเป็นจริง เหตุผลในการรัฐประหาร ที่ ผบ.ทบ. ที่เป็นหัวหน้า คสช.อีกตำแหน่ง กล่าวย้ำเสมอว่า ที่ทำรัฐประหาร ก็เพื่อยุติความขัดแย้ง และเพื่อให้คนไทยกลับมารักกัน ปรองดองกัน

เอาจากที่เห็นแค่บนเฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ ต่างฝ่าย ต่างก็ยังด่าอีกฝ่าย เหมือนก่อนเกิดรัฐประหาร สะใจที่อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ที่ตลกก็คือ หลายคนมองว่า ใครต้านรัฐประหาร ถือว่าเป็นฝ่ายเลว ซึ่งข้อหลังนี้ผมว่ามันแปลกดี ผมถือว่าเป็นสิทธิของพวกเขาที่จะแสดงออกในวิธีของเขา (แต่แสดงออกแล้วจะถูกจับกุม หรืออะไรก็เรื่องของเขา) เหมือนที่ผมถือว่าการแสดงออกของมวลมหาประชาขนที่เดินขบวนต่อต้านนิรโทษกรรมก็เป็นสิทธิที่พึงกระทำ หรือสิทธิที่ออกมาปิดถนนทั้งของเสื้อแดง (2553) และกปปส.(2556-2557) ที่มันไม่ควรจะถูกต้องแต่ทั้งสองฝ่ายก็อ้างว้ามีสิทธิ

ผมเองก็แสดงออกว่าไม่ขอบรัฐประหาร ในแบบของผม คือการพิมพ์ให้ได้ทราบทั่วกัน แต่ผมก็มีเหตุผลที่จะรู้สึกสบายใจดีกับการรัฐประหารครั้งนี้ เช่นเดียวกับเหตุผลที่หัวหน้า คสช.ท่านได้แจ้งเอาใว้ ในสถานการณ์ที่ทั้งไม่ชอบ และสบายใจกับการรัฐประหารครั้งนี้ ก็เลยลงท้ายด้วยความ "เฉยๆ"

ผมว่า ทั้งสองฝ่าย ไม่สนใจเรื่องปรองดอง ยังคงสนใจว่าใครจะเป็นผู้ชนะเบ็ดเสร็จ การจับมือปรองดอง ยุติบทบาทของพวกเสื้อแดง เป็นแค่การแสดง ตราบเท่าที่นักการเมือง คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งยังไม่ยุติ และปรองดองกันอย่างแท้จริง เดี๋ยวละครบทเดิมก็กลับมาอีก

ข้อความที่พร่ำบอกว่ารักทหาร ก็เป็นแค่ผลประโยชน์จากที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้รับ และรู้สึก เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นใครที่บอกว่ารักทหาร จะยอมปรองดองเพื่อเหล่าทหารอันเป็นที่รักสักราย (จะไปบอกว่าอีกฝ่ายไม่ปรองดองด้วย ไม่ใช่เหตุผลครับ เรื่องแบบนี้ ควรเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน)

ผมสงสารทหารครับ


ปล. ผมไม่ได้ต้องการให้ใครมาเชื่อ หรือคล้อยตาม ทุกคนสามารถคิดเองได้ครับ ข้อความของผม ก็แค่เป็นหนึ่งเสียงเล็กๆ ในสังคมนี้ ที่ไม่อยากให้ใครขัดแย้งกันเพราะการเมือง

24 March 2014

เหยื่อ

ผมโพสต์สเตตัสบนเฟสบุ๊คเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ดังนี้


"ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนในระดับหนึ่ง และรับได้กับคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะศาลฯ มุ่งพิจารณาที่ประเด็นเลือกตั้ง ไม่ได้พิจารณาเหตุที่ก่อให้เกิดประเด็นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ศาลฯพิจารณา (ใครที่คิดว่า "ครั้งนี้" ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่เป็นธรรม น่าจะลองอ่านข่าวจาก ลิ้งก์นี้ ให้จบก่อน)

อย่างไรก็ตาม มีเหตุใคร่รู้ (สาบานว่าไม่รู้จริง) คือ ที่เขาร้องเรียนว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจเสนอเรื่องนี้ และศาลฯ ก็ไม่ควรรับพิจารณานั้นจริงเท็จเป็นอย่างไร

ข้อสงสัยต่อมาคือ เหตุให้เกิดการไม่สามารถเลือกตั้งครั้งนี้ขึ้นในวันเดียวได้ ที่เราท่านทราบกันดี คือมีการขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง ประเด็นนี้ควรมีการจัดการอย่างไรเพื่อเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ส่วนตัวคิดว่าสำคัญ หากวันหนึ่งกลายเป็นเสื้อแดงออกมาขัดขวางการเลือกตั้งของรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามแบบอหิงสาบ้าง แล้วจะเป็นอย่างไร จะรู้สึกกันอย่างไร

คำถามสุดท้าย แล้วคะแนนกว่า 20 ล้านเสียงที่ลงไปในวันเลิอกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ที่ถูกวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ จะทำอย่างไรล่ะ ถึงจะโมฆะ แต่ก็เป็น 20 ล้านเสียงของประชาชน (อันนี้เป็นคนละประเด็นกับการถามถึงผู้ที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้)"



ไม่ทันข้ามคืน น้องที่สนิทกันมานานก็โพสต์ข้อความบนสเตตัสของเขา ดังนี้


"รู้สึกสมเพชกับสเตตัสของคนบางคน ที่อุตส่าห์ใช้วาทะกรรมอันสวยหรู ใช้ภาษานักเขียนอย่างดิบดี แต่เนื้อความนั้นแสนตื้นเขิน... ยังต้องให้ตอบกันอีกหรือว่าถ้าวันนึงเสื้อแดงออกมาขัดขวางการเลือกตั้งแบบสันติ-อหิงสาบ้าง แล้วจะเป็นอย่างไร (ซึ่งคงจะไม่มีวันนั้น m79ที่กระหน่ำยิงใส่ศาลและบ้านผู้พิพากษาคุณกล้าบอกหรือว่าแดงไม่ได้ทำ?) 20ล้านเสียงที่ลงคะแนนไปแล้วก็เป็นเสียงของประชาชน (นี่ก็คงฟังมาจากบรรดานักวิชาการลวงโลกขายวิญญาณอย่างไอ้วีรพัฒน์มาอีกที) บลาๆ... บทสรุปง่ายๆสั้นๆคือ "คนโง่มักอวดฉลาด" การพูดจาแบบนี้ถือเป็นการดูหมิ่นอำนาจการตัดสินของศาล (ซึ่งนิสัยไม่ต่างกับเสื้อแดง) และดูถูกคนอีกหลายสิบล้านคนที่เค้าออกมาเสียสละทั้งเวลา แรงกาย แรงใจ นอนกับดิน กินกับทราย เสียสละกำลังทรัพย์ด้วยจิตศรัทธา หวังจะให้ประเทศได้เดินหน้า ขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย จากที่อ่านดู หลายคนมักจะออกตัวแรงไว้ก่อนว่าตนไม่ใช่เสื้อแดง แต่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ กปปส. และไม่ชอบ พรรคปชป. ไม่ชอบคุณสุเทพ ฯลฯ แต่คุณรู้ไม๊ว่า นิสัยที่ดีแต่วิพากษ์วิจารณ์ว่านู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี มันคือการที่ "มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ"อย่างมาก มันคือการบั่นทอนความเจริญของสังคมและชาติบ้านเมืองที่มีคนที่คิดอย่างคุณอยู่ คุณจงมองดูชีวิตตัวเองเถอะว่า ทุกวันนี้คุณเกิดมาได้เคยทำอะไรที่คุณได้รู้สึกภาคภูมิใจในตัวคุณเองบ้าง (นอกจากการได้รับเชิญไปงานอีเว้นท์เก๋ๆมากมาย) คุณตื่นเช้ามา คุณมองเข้าไปในกระจกแล้วคุณเห็นอะไรในนั้น... ลองนั่งย้อนมองชีวิตที่ผ่านมาจนเกือบจะ40ปีดูสิว่าเคยทำอะไรที่ประสบความสำเร็จกับเค้าบ้าง หากทุกวันนี้ การที่คุณได้แต่นั่งเขียนสเตตัสเพื่อหวังที่จะบอกให้โลกรู้ว่าฉันฉลาด ฉันเก๋ ฉันคิดต่าง ขอบอกไว้เลยว่านั่น.. ไม่ได้ทำให้ชีวิตคุณดีขึ้นมาเลย ตรงกันข้าม คุณกลับจะได้รับความสมเพชเวทนาจากคนที่ต้องมานั่งทนอ่าน (เพราะเขาอาจจะหลวมตัวมาเป็นเพื่อนกับคุณในเฟซบุ๊ค) ชีวิตที่ยังเหลือ คุณก็ยังจะใช้ให้มันหมดไปอย่างไร้ค่าแบบนี้น่ะหรือ? น่าจะลองหยุดคิดดูบ้างนะ (ขออภัยถ้าหากจะมีใครที่กระทบกระเทือนจากสเตตัสนี้ และคุณสามารถ unfriend ผมไปได้เลยด้วยความยินดี)"


ผมไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจเขียนถึงผมหรือบังเอิญมาพ้องกับสิ่งที่ผมเขียนพอดี  


เมื่อผมไม่แน่ใจ ผมจึงอยากขอความเห็นจากท่านที่ได้เข้ามาอ่านบล็อคนี้ ว่าสิ่งที่ผมเขียน เป็นไปตามที่น้องเขาเขียนถึงหรือเปล่า เพราะผมเองรู้สึกเสียใจ หากเขาเขียนถึงผม เนื่องจากผมมักบอกกับใครๆ ว่า ไม่อยากให้คนรู้จักกัน เกลียดกันเพราะเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้นเวลานี้ มันเป็นการเมืองที่อาศัยมวลชนเข้าต่อสู้กัน ถ้าอยากเกลียด ขอให้เกลียดแกนนำฝ่ายตรงข้าม ประชาชนอย่างเราท่านคือผู้รบสารปลายทาง

ย้ำอีกที่ว่าผมอยากรู้จริงๆ ไม่ใช่รู้แล้ว แต่แกล้งไม่รู้

09 March 2014

เมื่อชาติเสียหาย ใครรับผิดชอบ

กลุ่มเทียนขาวควรไปเรียกร้องให้นปช.เลิกการแบ่งแยกดินแดน เพราะนั่นคือแนวคิดที่นอกจากจะก่อให้เกิดความรุนแรง ยังทำให้เกิดความแตกแยก

แกนนำนปช.จะแค่ให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีแนวคิดในการแบ่งแยกดินแดนไม่ได้ เพราะมีหลักฐานชัดเจนทั้งภาพ และคำพูดของคนระดับหัวหน้า แกนนำนปช.ถ้าจะพิสูจน์ความจริงใจก็ควรปลด และส่งตัวคนที่มีแนวคิดแยกดินแดนให้ไปรับโทษ ...นี่ไม่ใช่การกล่าวหา หรือกลั่นแกล้ง แต่เป็นสิ่งที่พวกคุณทำตัวเอง

เหมือนเช่นที่รํฐบาลทำตัวเองเรื่อง พรบ.นิรโทษกรรม และเรื่องจำนำข้าว แต่กลับจะโยนความผิดที่ปลายเหตุให้ผู้อื่น

ส่วนกปปส.ก็ต้องรับผิดชอบในการปิดกรุงเทพ ที่นอกจากจะไม่ทำให้นายกฯลาออก หรือไม่มีการเลือกตั้งได้ ยังทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน เดือนร้อนกับผู้ที่ถูกผลกระทบในการปิดกรุงเทพ และที่สุดก็ต้องเลิกการปิดกรุงเทพ แต่ก็ไม่เห็นแกนนำคนไหนออกมารับผิดชอบ นอกจากแจกเงินครอบครัวคนตาย และโยนความผิดให้ฝ่ายตรงข้าม

อาทิตย์หน้ากปปส.จะตั้งเวทีปฏิรูปการเมือง อาทิตย์ที่ผ่านมาก็เพิ่งจะพูดถึงพิมพ์เขียวการปฏิรูป ทั้งที่จริงควรทำควบคู่กันไปกับการชุมนุม

ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้แด่ความเพ้อฝัน ที่มาพร้อมกับความเคียดแค้น จากสิ่งที่แกนนำและโซเชียลเน็ตเวิร์คสุมเชื้อไฟไปเรื่อยๆ

ผมไม่มีคอมเม้นต์ว่าใครดีกว่าใคร ใครเลวกว่าใคร แต่ขอให้พวกคุณๆ ทั้งสองฝ่ายรอดูครับ รอดูว่าท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นไปอย่างที่แกนนำสร้างภาพฝันให้พวกคุณมั้ย

นปช. = แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
กปปส. =  คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เพราะการเมืองก็คือการเมือง

04 March 2014

บันทึกหลังวันเปิดกรุงเทพ

เมื่อวานคือการสิ้นสุดการ #ปิดกรุงเทพ ที่ต้องบอกว่า "กปปส.ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง" เนื่องจากเป้าหมายคือการบีบให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศต่อไป รวมทั้งการปฏิรูปก็จะต้องเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง 

ตลอดเวลาเดือนครึ่งของการปิดกรุงเทพ แม้กปปส.อาจมีส่วนทำให้รัฐบาลล้มเหลวในการบริหารงาน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ลาออกตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ ในระหว่างการปิดกรุงเทพก็ยังเกิดการเลือกตั้งขึ้นได้ (แม้จะมีการเรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะก็ตาม - และส่วนตัวก็มองว่า การที่หลายคนหยิบเอาเรื่องการเลือกตั้งผ่านมาครบ 30 วันมาเป็นประเด็นการรักษาการของรัฐบาล ก็เท่ากับยอมรับว่ามีการเลิอกตั้ง)

นอกจากการปิดกรุงเทพจะไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์โดยสิ้นเชิง ยังทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทางร่างกาย ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจ ทั้งยังเติมเชื้อความขัดแย้งให้แกสังคม (จากทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน) ทั้งหมดคือความจริงที่ต้องยอมรับ

ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองถามตัวเองดูสิว่า เราได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จากการ "ปิดกรุงเทพ" และแน่หรือที่เราพบทางออกที่แท้จริงของประเทศไทย จากนั้นค่อยๆ คิดหาคำตอบที่แท้จริง ที่ไม่ได้เอนเอียงใปตามความรู้สึก

นี่ไม่ต้องพูดถึงความรับผิดชอบที่ผู้ก่อกิจกรรมควรแสดงความรับผิดชอบในความล้มเหลวที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีแน่นอน เนื่องจากแกนนำก็ประกาศชัดแล้วว่า ที่เลิกการปิดกรุงเทพนั้นเพราะประสบความสำเร็จแล้ว ?!?!

เราควรจำไว้อีกครั้งหนึ่งว่า การกระทำการด้วยการปิดล้อม นับตั้งแต่ พมธ.ปิดทำเนียบและสนามบิน จนถึง นปช.ปิดราชประสงค์ และล่าสุด กปปส.ปิดกรุงเทพ ก็ล้วนไม่เกิดประโยชน์ หรือทำให้บ้านเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้เลย

การชุมนุม หรือความต้องการปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นของ กปปส. หรือแม้แต่การต่อต้านเผด็จการของ นปช.ล้วนเป็นความคิดที่ดีต่อประเทศทั้งสิ้น (ถ้าไม่มีอะไรแอบแฝง) แต่ก็อย่าลืมว่าเรามีวิธีเรียกร้อง และปฏิรูปในอีกหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางที่เป็นไปตามกติกา ที่ผมเชื่อว่าแกนนำทุกท่านก็รู้อยู่แก่ใจ

จะยอมใหัใครคนใด หรือกลุ่มใด ปลุกระดมคนในบ้านให้ลุกขึ้นมาทำลายบ้านตัวเองอีกงั้นหรือ...

06 February 2014

ดีเบตเลือกตั้ง

ฟังคุณอรรถวิชช์ ดีเบต คุณวีรพัฒน์ ในรายการคุณสรยุทธ วันก่อน ถ้าฟังเพลินๆ ก็คงสะใจคุณอรรถวิชช์ ที่ตอบโต้คุณวีรพัฒน์ได้โดนใจเราท่าน 

แต่ผมไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

เพราะประเด็นคือ (โดยสรุป) 1. คุณอรรถวิชช์บอก เลือกตั้งโมฆะ เพราะผลคะแนนเลือกตั้งถูกเปิดเผยหน้าคูหา เป็นการชี้นำคนที่ยังไม่ได้เลือก 2. การเลือกตั้งมิชอบ เพราะรัฐบาล "เลว" จนมาสู่การยุบสภาเอง ยังมีหน้าจะจัดเลือกตั้ง 3. การเลือกตั้งทำไม่ได้หลายเขต เป็นการเลือกตั้งขี้เหร่ 4. เปลืองงบประมาณ หลายคนเตือนรัฐบาล ให้เลื่อนเลือกตั้ง แล้วรัฐไม่ฟัง ยังลุยเลือกตั้งต่อ

เรื่องนี้ต้องแยกกัน ระหว่าง "เลว" และ "เลือกตั้ง" เรารู้ว่ารัฐบาลเลว แต่รัฐก็ยังมีอำนาจในการบริหารราชการ เมื่อยุบสภา ก็ต้องเปิดให้มีการเลือกตั้งตามกฎหมาย แม้จะเป็นรัฐบาลเลวก็ตาม จะอ้างว่าเลวแล้วห้ามจัดเลือกตั้งไม่ได้ ไม่มีกฏหมายบอกไว้

ที่บอกว่าเลือกตั้งไม่สมบูรณ์ หลายเขตเลือกไม่ได้ อย่าลืมว่ามันเกิดจากอะไร คุณอรรถวิชช์บอกคุณสุเทพไม่ได้สั่งขัดขวาง แต่จริงๆ คุณสุเทพและแกนนำเคยพูดไว้ จนวันท้ายๆ จึงบอกไม่ให้ขวาง (เพราะมีการยิงกันจนล้มตาย) มันก็อาจทำให้พรรคพวก กปปส.เดินหน้าขัดขวางต่อไปอย่างที่เห็น เรื่องนี้คล้ายกับ การกล่าวหาแกนนำเสื้อแดงสั่งให้เผา แต่วันที่แกนนำมอบตัว พวกเขาก็ไม่ได้สั่งให้เผา ให้กลับบ้าน แต่พรรคพวกนปช.ก็เผา ...ก็หลักเดียวกัน

ฉะนั้นจึงต้องบอกว่า กปปส.มีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้กระบวนการเลือกตั้ง พิกลพิการอย่างที่เห็น หากกปปส.ไม่ขัดขวาง กระบวนการเลือกตั้งก็ดำเนินต่อไปราบรื่น

หลายคนเตือนให้เลื่อนเลือกตั้งออกไป ตำถามคือ เลื่อนออกไปถึงเมื่อไร เลื่อนแล้วจะไม่เกิดความขัดแย้ง จะไม่เกิดขัดขวางการเลือกตั้ง เลื่อนแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อ เลื่อนแล้วต้องให้รัฐบาลทำตามแนวทาง กปปส.?? มันไม่ใช่แน่ครับ ตราบที่ยังมีทิฐิใส่กัน และที่สำคัญ ใครล่ะ ทำให้การเลือกตั้งวุ่นวาย คน "เลว" แต่ก็ไม่ได้สร้างความวุ่นวายโดยขวางเลือกตั้งนะครับ

กกต. (ที่ไม่ใช่รัฐบาลทำ) จะผิดที่ให้มีการนับคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 โดยเปิดเผย นี่สิ อาจเป็นข้ออ้างที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ แต่ก็ต้องย้อนกลับไปอีกแล้วว่า อะไรทำให้เลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งในบางพื้นที่ บางจังหวัดทำไม่ได้?

อาจมองว่าทำไมแม่งถึงด่า กปปส. จังวะ แม่งไม่รักชาติ แม่งเหี้ย ...คืออยากด่าอะไรก็ตามสบายฮะ ผมมีเหตุผลของผมตามที่เล่าไปแล้ว 

ผมมองว่าถึงใครจะเป็นคน "เลว" แต่คน "ดี" ก็ไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง ยกตัวอย่างที่เคยเล่าไปหลายครั้งละว่า แม้เราจะรำคาญแม่ค้าริมฟุตบาทสยาม ที่ขวางทางเท้า ที่ควรเดินสบาย และมันก็ผิดกฏหมายกีดขวางทางเท้า ซึ่งเปรียบเป็นรัฐบาลเลว ขณะเดียวกัน เราท่านก็ไม่สามารถไปเตะหรือทำลายแผงค้าขายให้พังได้ เพราะเราจะผิดกฏหมายทำลายทรัพย์ ดังนั้น จะว่าใครเลว เราก็ต้องไม่เลวแบบเขา

ที่สำคัญที่สุด ประเทศไทย ไม่ได้มีแต่ กปปส. ที่สำคัญที่สุดประเทศไทยก็มี นปช. มีไทยเฉย ไม่คิดบ้างหรือว่า วันหนึ่งคนเหล่านี้ก็อาจกลับมาทำแบบที่เราทำกันวันนี้ จำเหตุการณ์ปี 53 ไม่ได้หรืออย่างไรครับ ไม่คิดบ้างหรือ ว่า นปช. หรือกลุ่มอื่นๆ ก็อาจกลับมาทำอะไรแบบนี้อีก

นี่คือเรื่องที่ผมห่วงที่สุด ห่วงว่าม้นก็จะไม่จบ จากสิ่งที่เราสะใจในวันนี้ครับ ผมไม่ได้สน กปปส. ไม่ได้สน นปช. ไม่ได้ห่วงนักการเมือง ผมห่วงสังคมที่ผมอยู่ ผมห่วงคนรอบข้าง 

คำพูดของคุณอรรถวิชช์ จึงมีแต่ความสะใจ ความเฉพาะหน้า ด้วยลีลาการพูดแบบนักการเมือง หากใครค้านในสิ่งที่ผมเขียนทั้งหมดก็ไม่เป็นไรครับ ก็ขอให้เก็บคลืปรายการนี้เอาไว้ดูในวันข้างหน้าก็ได้

ฉะนั้น ตราบใดที่พวกคุณและผม ยังเดินตามเกมนักการเมือง ตราบนั้นเราก็ยังจะขัดแย้งกันด้วยเรื่องไม่ใช่เรื่อง ที่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว คนไทยยังอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

กระทั่ง นักการเมืองส่งเสียงเรียก


21 January 2014

เหมือนกัน

พฤติกรรม กปปส.ต่อรักษาการรัฐบาลเวลานี้ ทำให้นึกถึง ความรู้สึกที่มีต่อพ่อค้าแม่ค้า ที่ตั้งแผงขายของเต็มพื้นที่ทางเท้าสยามสแควร์ 


คืออยากเตะ อยากชนแผงขายของให้ล้ม แล้วเดินเหยียบ เพราะมันกีดขวางทางเดิน และผิดดฏหมาย ในความรู้สึกคือทำได้เพราะแกทำผิดกฏหมาย แต่กระนั้นถ้าผมทำลงไป ผมก็ผิดกฏหมาย ฐานทำลายทรัพย์สินผู้อื่น


รัฐบาลทำผิด อยากไล่รัฐบาล ก็เลยปิดถนนไล่ ต่อต้านเลือกตั้ง ซึ่งดูเหมือนผู้ไล่มีเหตุผลสมควรไล่ แต่ความจริงคนไล่ก็กำลังทำผิดกฏหมาย ไม่เคารพกติกาเสียเอง ...เหมือนกัน


ตอนนี้ประเทศไทย ใครอยากทำอะไร ก็ไม่ต้องเกรงกลัวกฏหมายกันแล้ว เพราะต่างก็ทำผิดกฏหมายด้วยกันทั้งสิ้น



11 January 2014

บันทึกไว้ ณ ก่อนวัน Bangkok Shutdown 13 มกราคม 2557


เป็นอีกปรากฎการณ์หนึ่ง ที่แตกต่างกับเหตุการณ์เมื่อปี 2553 เมื่อกลุ่มเสื้อแดงปิดแยกราชประสงค์ คือในวันที่ 13 มกราคม 2557 กลุ่มที่เรียกว่า กปปส. จะทำการปิดกรุงเทพ นั่นหมายถึงการปิดถนน ณ จุดสำคัญของกรุงเทพ ประกอบด้วย 1. ถนนแจ้งวัฒนะ 2. ห้าแยกลาดพร้าว 3. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 4. สี่แยกปทุมวัน 5. สี่แยกลุมพินี 6. สี่แยกราชประสงค์ และ 7. สี่แยกอโศก เพื่อบีบให้รัฐบาลเข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลว จนต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรักษาการ จากนั้นจึงเข้าสู่การปฏิรูปการเมือง ด้วยการขอนายกฯ พระราชทาน และตั้งสภาประชาชนต่อไป ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในท้ายที่สุด

เมื่อปี 2553 ผมเคยคัดค้านการที่เสื้อแดงเข้ามายึดราชประสงค์ เขาให้เหตุผลเพื่อต้องการยึดใจกลางเศรษฐกิจประเทศไทย ให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ ต้องลาออกและยุบสภาในที่สุด ที่ผมอาจสรุปว่าเป็นรัฐล้มเหลวเหมือนกัน จากที่เขาเคยยึดสะพานผ่านฟ้า แล้วไม่ได้รับความสนใจ ก็เลยยกระดับปฏิบัติการ 

ผมเดินทางร่วมกับประชาชนจำนวนมาก ในการ "แสดงออก" ซึ่งสัญลักษณ์การไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษการ การกู้เงินด้วยการผ่านร่างกฏหมายกันตอนดึกดื่น ซึ่งถือว่าพวกรัฐบาลไม่ซึ่อสัตย์และจริงใจกับประชาชน และกับกระเทศไทย เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ถือว่าเป็นรัฐบาลและพรรคการเมืองที่ไม่น่าเลื่อมใสจากใครๆ อีกต่อไป ผมไม่ร่วมแสดงตนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่เขาประกาศรวมตัวครั้งแรก (ก่อนหน้าวันที่คนมารวมตัวเป็นประวัติศาสตร์ในวันอาทิตย์ 24 พฤศจิกายน) จากนั้นก็ไปอีกครั้ง เพื่อไปร่วมลงชื่อคัดค้านการนิรโทษกรรม สุดท้ายก็ไปร่วมเดินจากราชเทวี ไปจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 9 ธันวาคม วันเดียวกับที่รัฐบาลประกาศยุบสภา

ทั้งสิ้นที่ทำมา ผมขอแค่การแสดงออก ซึ่งความไม่เห็นด้วยให้รัฐบาลได้รับรู้ และได้มาซึ่งการยุบสภา 

จากนั้น เรื่องก็ยังไม่จบ ซึ่งก็ด้วยเหตุผลในย่อหน้าแรก ที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป และไล่รัฐบาลนี้ออกไปจากการเมืองไทย 

ส่วนตัวเคยเขียนไปแล้วว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระบบ แต่อยู่ที่ตัวนักการเมืองทั้งสองฝ่าย ที่ยังไม่ปฏิรูปตัวเอง แต่มุ่งหน้าที่ปัญหาเกิดจากฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นตราบใด้ที่เรายังมีนักการเมืองไม่ดี การเมืองก็ยังจะมีปัญหาต่อไปเรื่อยๆ ผมจึงเห็นว่าไม่ว่าจะเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ก็จะเกิดการปฏิรูปที่ไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายอยู่ดี เพราะฝ่ายหนึ่งเมื่อปฏิรูป แน่นอนว่าก็ต้องตั้งธงกีดกันอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออีกฝ่ายก็ตั้งธงปฏิรูปเพื่อประโยชน์พวกพ้องและคนของเขา ...โลกไม่สวยแน่นอน ปัญหาไม่จบแน่นอน

ผมจึงมองไม่เห็นว่าการปิดกรุงเทพของ กปปส. จะเกิดผลดีกับประเทศชาติอย่างแท้จริง ถ้าหากทุกวันนี้เรายังไม่ยอมรับว่าปัญหาทางการเมืองทุกวันนี้เกิดจากเหล่านักการเมืองเอง ที่ใช้มวลชน และมวลมหาประชาชนเป็นเครื่องมือห้ำหั่นกันเอง จนมองว่าอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตนคือคนเลว แทนที่จะมองว่าเป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างในสังคมประชาธิปไตยที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ การปฏิรูปเพื่อประเทศไทยโดยแท้จริงก็จะไม่เกิด แต่เป็นการปฏิรูปเพื่อให้อีกฝ่ายได้เปรียบกว่าอีกฝ่าย โดยหารู้ไม่ (หรือจงใจจะทำไม่รู้) ว่า

เมื่อคราวรัฐประหาร ทักษิณ เราเคยฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วสร้างรัฐธรรมนูญใหม้ปี 2550 ที่สอดแทรกการจำกัดอำนาจของ ทักษิณ และพรรคพวก แต่แล้ว สิ่งที่ได้ก็คือการกลับมาของพรรคไทยรักไทย และเหล่าพรรคพวกทักษิณ อยู่ดี 

หากคราวนี้ เราจะปฏิรูป เพื่อแก้ไขให้กำจัดอำนาจและบทบาททักษิณ ก็คงต้องเขียนในรัฐธรรมนูญไปแบบตรงๆ แล้วผลที่ได้จะคืออะไรล่ะ หากไม่ใช่การทำให้มวลชนเสื้อแดงลุกขึ้นมาต่อต้าน และอาจเกิดการยึดกรุงเทพอีกครั้ง ถ้าเป็นเช่นนั้น คนกรุงที่หนุน กปปส. ให้ยึดกรุงเทพบ้านเราเอง ก็คงต้องยอมรับในสิ่งที่่ฝ่ายตรงข้ามอาจทำเช่นเดียวกันด้วย เพราะพวกเขาก็มีเหตุผลเดียวกันกับ กปปส.

ผมมองว่า ปัญหาทุุกวันนี้ อยู่ที่นักการเมือง คนแก้ปัญหานี้ จึงไม่ควรเป็นนักการเมือง เพราะคงไม่มีนักการเมืองที่ไหน ยอมปฏิรูปตนเพื่อให้เสียผลประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง และทุกวันนี้อำนาจถ่วงดุลเราก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รัฐบาล และนิติบัญญัติ แทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมีอำนาจตุลาการมาคอยถ่วงดุลในทุกๆ เรื่อง ที่บางเรื่องดูยังไงก็ไม่ใช่เรื่องของดุลาการ

และผมก็ไม่แน่ใจว่า เวลาคัดเลือกคนมาปฏิรูปการเมืองจริงๆ จะได้คนที่ดีจริง ไม่ใช่ร่างทรงของใคร ดูตัวอย่างกันง่ายๆ จากที่เราเคยมีสภาสนามม้า ที่ใครต่อใครก็วิจารณ์ให้แซ่ดว่าเป็นการงัดข้อของกลุ่มการเมืองเพื่อให้มีสิทธิเลือกคนของตนเข้ามาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

สุดท้ายผมมองว่า หากเกิดความขัดแย้ง โกลาหล และวุ่นวายกันมากเข้า ด้วยการปิดเมือง หรืออะไรก็ตาม ก็คงไม่พ้นการกระทบกระทั่ง ยั่่วยุ การเผชิญหน้า สุดท้ายก็อาจเกิดการต่อสู้ ทำลายกัน เช่นเดียวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ 

จะต่างกันตรงที่ว่า ความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองของประเทศอื่นๆ มักเกิดจากปัญหาฝังลึกจริงๆ อย่างเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว หรือชนชั้นปกครองที่ปกครองประชาชนอย่างเลวร้าย จนประชาชนต้องลุกฮือขึ้นสู้ แต่เมื่อมองดูความขัดแย้งในประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงจนมีคนบาดเจ็บ ล้มตาย และทรัพย์สินเสียหายมาจนทุกวันนี้สิ 

ล้วนเกิดจาก "นักการเมือง"

ผู้ที่ท้ายที่สุด ก็ไม่เคยต้องได้รับผลกรรมใดๆ